มูลนิธิฯ 14 ตุลา เปิดนิทรรศการศิลปะ “ART LOVER” โชว์ผลงานศิลปินชั้นครู“เขียน ยิ้มศิริ-จักรพันธุ์ โปษยกฤต”

มูลนิธิฯ 14 ตุลา เปิดนิทรรศการศิลปะ “ART LOVER” โชว์ผลงานศิลปินชั้นครู“เขียน ยิ้มศิริ-จักรพันธุ์ โปษยกฤต”

มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา จัดนิทรรศการศิลปะ “ART LOVER” โชว์ชิ้นงานระดับตำนานทั้ง“อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ” “อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต” และศิลปินแถวหน้าของเมืองไทยอีกหลายท่าน โดยประธานมูลนิธิ 14 ตุลา เผยต้องการยกระดับงานศิลปะไทยสู่สากล ด้าน สว.-สถิตย์ชี้ผลงานศิลปินระดับปรมาจารย์ช่วยสร้างมูลค่าเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการศิลปะ “ART LOVER” ที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2566 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์14 ตุลาคม 2516 โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา กับริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก และร้าน Lawrence Art &Antique ว่าชื่นชมมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา ที่ได้ร่วมกันจัดงานนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ และอยากฝากรัฐบาล สถาบันการศึกษา ให้ผลักดันให้งานศิลปะเป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมือง เพื่อเยาวชนและคนไทยทั่วไปจะได้สัมผัสผลงานของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือรูปปั้น
“ศิลปะเป็นงานสร้างชาติ เป็นการรำลึกความเป็นไทย เรื่องศิลปวัฒนธรรมต้องได้รับความเอาใจใส่ เพื่อทำให้คนรุ่นใหม่ได้ลงรากลึกในเรื่องนี้” อดีตประธานวุฒิสภา กล่าว
ด้าน ดร.พีรพล ตริยะเกษม สถาบันประธานมูลนิธิวิชาการ 14 ตุลา กล่าวว่า การจัดนิทรรศการศิลปะ “ART LOVER” เพื่อหารายได้มาสนับสนุนการจัดกิจกรรมวิชาการของมูลนิธิทั้งในทางการเมือง สังคมการศึกษา และเศรษฐกิจ เพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทย ช่วยให้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ มองว่าชีวิตมนุษย์จำเป็นต้องมีศิลปะ ถ้าไม่มีก็จะไม่มีความสมบูรณ์ในชีวิต และการจัดงานยังคือต้องการช่วยเหลือพัฒนาศิลปะของไทยให้ไปสู่สากล โดยให้ผู้สนใจมาสนับสนุนซื้อรูปภาพ ผลงานจะได้ไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ชาวต่างประเทศได้เห็นได้ชื่นชมว่าประเทศไทยก็มีงานศิลปะระดับโลก
นายพีรพลกล่าวว่า มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา เกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่เรียกกันว่าวันมหาวิปโยค แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวันมหาปิติด้วย เพราะได้มีการ่วมมือกันตั้งเป็นมูลนิธิ เพื่อทำงานให้กับส่วนรวม เพื่อประเทศชาติและเพื่อคนยากคนจน ปีที่แล้วไปนอร์เวย์ในสวนสาธารณะก็มีงานศิลปะ หลายประเทศก็มีลักษณะเดียวกัน การที่มูลนิธิฯมาร่วมทำงานกับศิลปินเพื่อส่งเสริมงานศิลปะของไทยให้เจริญรุ่งเรืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“ในความเป็นจริงไม่ใช่มีเฉพาะการเมืองเท่านั้น ต้องมีศิลปวัฒนธรรมด้วยถึงจะทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถ้าผมได้เป็นรัฐบาลจะส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ ผมเองมีโอกาสไปต่างประเทศบ่อย ได้เห็นเพื่อนสวีเดนไปซื้องานศิลปะที่เวียดนามจำนวนหลายล้านบาท แล้วนำไปแสดงงานศิลปะที่สหรัฐและอังกฤษ”สถาบันประธานมูลนิธิวิชาการ 14 ตุลากล่าวและว่า ส่วนใหญ่ศิลปินอยู่กันอย่างยากลำบาก รัฐบาลสนใจช่วยเหลือแต่เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ แต่ไม่เข้าใจเนื้อแท้ของศิลปินที่ต้องมีศักดิ์ศรี และมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทย หากรัฐบาลส่งเสริมนอกจากชีวิตศิลปินจะดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ศิลปวัฒนธรรมไทยไปสู่ระดับสากลด้วย
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การจัดงาน“ART LOVER” ทำให้มูลนิธิขยายงานมาทางด้านศิลปะที่ศิลปินใช้จินตนาการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งงานประติมากรรมของอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ที่แสดงถึงความเป็นไทย เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่ทำให้ผู้เสพได้ดื่มด่ำความงดงามเหล่านั้น และถ้ามีการจำหน่ายชื้นงานที่จัดแสดงออกไป ก็จะทำให้ศิลปะไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นระดับสากล
“ชิ้นงานของอาจารย์เขียนหรืองานศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ถือเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าในทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี หากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ดร.สถิตย์กล่าว
ด้านคุณณัฐปคัลภ์ หุตินทะ ผู้รวบรวมผลงานศิลปิน กล่าวว่า การจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ “ART LOVER” ครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2566 โดยมีผลงานของศิลปินมาจัดแสดงว่า 100 ชิ้น ไฮไลท์อยู่ที่งานประติมากรรมของอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ 4 ชิ้น ชื่อผลงาน “The Legend Group” ขลุ่ยทิพย์,ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม,แม่กับลูกและเริงระบำ เป็นงานระดับตำนาน ราคา 5.6 ล้านบาท ซึ่งอาจารย์เขียนเป็นศิลปินคนแรกที่ได้รับรางวัลศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาประติมากรรม ในการประกวดศิลปกรรมศิลปกรรมแห่งชาติ ตนอยากให้ผู้สนใจได้ร่วมสนับสนุนงานของอาจารย์เขียนเพื่อให้ไปจัดแสดงในคณะศิลปกรรมของสถาบันการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาและคนทั่วไปได้เห็นความงดงามของประติมากรรมเหล่านี้
คุณณัฐปคัลภ์กล่าวต่อว่า ไฮไลต์อีกชิ้นของการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ “ART LOVER”คือ ภาพเขียนของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ชื่อ“นิสิตจุฬา”ราคา 3.5 ล้านบาท ผู้สนใจผลงานศิลปินในงานนี้ ซึ่งมีทั้งภาพเขียนประเภทต่างๆทั้งภาพเหมือนบุคคล ผลงานอีโรติก ผลงานประติมากรรมและภาพถ่าย ผสามารถติดต่อสอบถามได้ที่มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา โทร 0-2260-7712-3

Loading

Share: